วัดศรีนวรัฐ ตั้งอยู่ ณ บ้านทุ่งเสี้ยว เลขที่ 266 หมู่ 3 ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ บนถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ระหว่างกิโลเมตรที่ 29-30 มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ 3 งาน มีศรัทธาหมู่บ้าน ประมาณ 500 หลังคาเรือน
จากคำเล่ากล่าวของผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่พบหลักฐานวันเวลาในการก่อสร้างที่แน่นอน ทราบแต่เพียงว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต เดิมชื่อของวัดมิได้ชื่อ "วัดศรีนวรัฐ" แต่ต่อมาเจ้าแก้วนวรัฐ ได้ทำการบรูณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้เจริญรั่งเรือง ท่านจึงให้นามเสียใหม่ว่า "วัดศรีนวรัฐ" ตั้งแต่บัดนั้นมา ถ้าจะประมาณอายุของวัดแห่งนี้ก็คงประมาณ 3-4 ร้อยปี
วัดเดิมตั้งอยู่ด้านหน้าของวัดศรีนวรัฐในปัจจุบัน จากบันทึกเก่าแก่บอกว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2145 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในพงศวดารล้านนา กล่าวว่าอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ถูกปกครองโดยมังซานรทามังคุย ระหว่าง พ.ศ. 2122-2150
สมบัติของวัดเดิมสมัยเวียงท่ากานยังรุ่งเรือง ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันคือ พระพุทธรูปไม้สัก "พระเจ้าอกล้ง" หน้าตัดกว้าง 32 นิ้ว สูง 56 นิ้ว ถูกทอดทิ้งอยู่บริเวณวัดเดิมตั้งแต่สมัยศึกพม่า ท่านเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายได้อาราธนาอัญเชิญจากที่เดิมมาบูรณะซ่อมแซมตกแต่งใหม่ให้งดงาม ท่านเจ้าแก้วโปรดให้ตัดถนนเข้าวัดใหม่ โดยตัดจากถนนใหญ่สายเชียงใหม่ฮอด ให้ตรงกับหน้าพระวิหารหลังปัจจุบัน ซึ่งตรงกับแท่นแก้ว(แท่นพระประธานเดิม) อยู่กลางถนนตัดใหม่พอดี โดยใช้ช้างรื้อออก ทั้งสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในวัดเดิม ฉะนันในปัจจับันจึงไม่มีร่องรอยของวัดเดิมอยู่เลย
ส่วนวิหารหลังแรกของวัดศรีนวรัฐ เข้าใจว่าสร้างขึ้นภายหลังพ.ศ.2348 หลังจากที่เจ้ากาวิละ ต้นราชวงค์เชียงใหม่ได้ยกกองทัพขึ้นไปตีแคว้นสิบสองปันนา เช่น เชียงรุ้ง เชียงตุง เชียงขวาง เมืองยอง เมืองทา เมืองต่วน เมืองหาง เมืองสาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเขตยึดครองของพม่า ได้กวาดต้อนอพยพชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน ไทยยอง มาไว้ในเขตล้านนา ชาวบ้านทุ่งเสี้ยวส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเขิน (เชียงตุง) วัดศรีนวรัฐ(ทุ่งเสี้ยว) สร้างใหม่หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ในสมัยเจ้ากาวิละตามหลักฐานคัมภรีธรรมโบราณ เรียกชื่อว่า "วัดหลวงทุ่งเสี้ยว" เจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์แรกครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2324 - 2358 ในปีพ.ศ. 2470 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้กำแพงด้านหลังพระวิหารทรุดพังลงพร้อมทั้งองค์พระประธาน ปรากฎว่ามีของมีค่าบรรจุอยู่ในนั้นมีลานหูทองคำได้เขียนว่ามีสามเณรเป็นเจ้าศรัทธาเป็นผู้สร้างพระประธานเมื่อปี พ.ศ. 2370 (ตรงกับสมัยเจ้าหลวงพุทธวงค์ พ.ศ. 2368-2389) จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทันเห็นพระวิหารหลังแรก เล่าว่า พระวิหารหลังแรกนั้นมีขนาดสูงใหญ่ และด้านรูปแบบผิดกับพระวิหารหลังปัจจุบันนี้มาก ซึ่งพระวิหารหลังแรกเป็นทรงจตุรมุขมีทางขึ้นสามทาง ทางขึ้นด้านหน้าเป็นบันไดใหญ่มีรูปพญานาคสองข้างสวยงามมาก หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา พระวิหารหลังแรกอายุประมาณหนึ่งร้อยปีเศษ ก็ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ในขณะนั้นท่านเจ้าอาวาสพระอธิการบุญมาและศรัทธาทั้งปวงเห็นว่าไม่สามารถจะบูรณะซ่อมแซมได้ จึงได้รื้อพระวิหารหลังเก่าลง ยังมิทันจะลงมือสร้างใหม่ พระอธิการบุญมาท่านเจ้าอาวาสท่านก็มรณะภาพลง
ต่อมาพระดวงติ๊บได้เป็นเจ้าอาวาสแทน ได้ดำเนินการสร้างพระวิหารหลังใหม่ แต่ศรัทธาในสมัยนั้นมีเพียง 50-60 หลังคาเรือน ไม่มีกำลังพอที่จะสร้างพระวิหารหลังใหม่ให้มีขนาดสูงใหญ่เท่าหลังเดิมได้จึงได้ลดให้มีขนาดเล็กลงตามแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เสาสูงของพระวิหารหลังปัจจุบัน เป็นเพียงเสาสั้นของพระวิหารหลังเก่า
พระวิหารหลังใหม่ได้ก่อสร้างจนยกช่อฟ้าปันลมแล้ว ท่านเจ้าแก้วนวรัฐจึงได้เสด็จมาบ้านทุ่งเสี้ยว ตามที่คนแก่คนเฒ่าเล่าว่าท่านเจ้าแก้วนวรัฐได้ทราบจากบันทึกหลักฐานว่าต้นราชวงค์เชียงใหม่ได้สร้างวัดไว้ที่บ้านทุ่งเสี้ยว ท่านจึงได้เสด็จมาทอดพระเนตรปรากฎว่าพระวิหารหลังเก่าถูกรื้อไปแล้ว พระวิหารหลังใหม่กำลังก่อสร้าง ซึ่งขนาดและรูปแบบผิดจากพระวิหารหลังเดิม ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้วการมาประทับที่บ้านทุ่งเสี้ยว ครั้งแรกสร้างคุ้มชั่วคราวขึ้นที่บริเวณถังเก็บน้ำประปาประจำหมู่บ้าน ต่อมาได้สร้างคุ้มอย่างเป็นการถาวรไว้ใกล้กับวัดศรีนวรัฐ(ทุ่งเสี้ยว) ท่านครูบาเทิ้ม (ครูบาโสภา) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับท่านเจ้าแก้วนวรัฐได้มาช่วยในการก่อสร้างและตกแต่งพระวิหารจนเสร็จงาน และได้ช่วยหล่อระฆังขนาดใหญ่ซึ่งมีเสียงไพเราะ 1 ลูก และกลองฟ้อนเล็บ หลังจากสร้างวัดเสร็จแล้วท่านก็ขึ้นไปสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพต่อ
ก่อนมีงานปอยหลวงฉลองพระวิหารใหม่ ได้โปรดให้ตัดถนนใหม่ให้ตรงกับหน้าวัดและได้อัญเชิญพระพุทธรูปไม้สัก (พระเจ้าอกล้ง) มาไว้ในพระวิหารใหม่ร่วมพิธีปอยหลวงด้วย
ในงานฉลองพระวิหารหลังใหม่ ท่านเจ้าแก้วนวรัฐ พร้อมทั้งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าแม่จามรี หม่อมบัวเขียว และพระราชวงค์ ได้เสด็จมาประทับที่คุ้มหน้าวัด ส่วนขุนนางอำมาตย์ ข้าราชบริภารได้พักตามบ้านราษฎร ท่านเจ้าแก้วนวรัฐได้อาราธนาอัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองจากวัดพระธาตุจอมทองมาพักไว้ ณ วัดต้นแหนหลวง เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2464 ได้หนึ่งคืน ปรากฎว่าพระบรมธาตุได้หายไป พระที่นำพระบรมธาตุมาจึงได้ให้อาจารย์ประจำองค์พระธาตุอาราธนานิมนต์มาใหม่ ปรากฏว่าในพระบรมธาตุปรากฎในโกศดังเดิม ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ท่านเจ้าแก้วนวรัฐได้ทรงจัดขบวนช้างศึก ไปอัญเชิญพระบรมธาตุจากวัดต้นแหนหลวงมายังพระวิหารหลังใหม่ของวัดศรีนวรัฐ(ทุ่งเสี้ยว) โดยมีเจ้าน้อยพรหม เป็นผู้จัดขบวนแห่ ช้างนำขบวนคือช้างปู่ชัยบาล เป็นช้างที่ฉลาดและเชื่องมาก มีนายสุขเป็นควานช้าง และยังมีช้างร่วมขบวนอีกสี่เชือก ประกอบด้วยทหารแต่ชุดนักรบโบราณสีแดงงดงามมาก มีประชาชนคอยต้อนรับสองฝั่งทางจนถึงวัดศรีนวรัฐ ในเวลากลางคืนจัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ และการแสดงของช้างปู่ชัยบาล เช่น การรำเทียน
ในวันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 อันเป็นวันเริ่มงานฉลองพระวิหารหลังใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นวันออกพรรษาของพระบรมธาตุด้วย ตามประเพณีของชาวล้านนาถือว่าพระบรมธาตุจะเข้าพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ท่านผู้สรงน้ำพระบรมธาตุองค์แรกคือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี องค์ต่อมาคือ ท่านเจ้าแก้วนวรัฐ หลังจากพิธีสรงน้ำพระธาตุเสร็จแล้ว ในวันรุ่งขึ้นก็ได้อัญเชิญพระบรมธาตุกลับสู่ยังวัดพระธาตุศรีจอมทองดังเดิม ท่านเจ้าแก้วนวรัฐได้บริจาคปัจจัยเป็นพุทธบูชาเป็นเงิน 500 รูปี โดยตกแต่งเป็นพุ่ม คล้ายพานพุ่ม
ในระหว่างการสมโภชน์งานฉลองพระวิหารหลังใหม่ ท่านเจ้าแก้วนวรัฐพร้อมด้วยพระราชวงค์ได้ประทับอยู่ที่คุ้มหน้าวัดศรีนวรัฐ ในบริเวณคุ้มสมัยนั้นยังมีต้นมะม่วงป่าอันเป็นต้นไม้สูงที่สุด ท่านเจ้าแก้วได้โปรดให้คนจุดตะเกียงเจ้าพายุหลายดวง นำขึ้นไปแขวนไว้บนยอดต้นมะม่วงตลอดงาน 15 คืน ส่วนสองฟากถนนทางเข้าวัด ให้จุดประทีปโคมไฟเป็นระยะสองฟากถนน มีร้านค้า ร้านขายอาหารมากมาย ภายในวัดประดับไปด้วย ธงช่อน้อย ธงชัย ธงชาติ ช่อช้าง มีดนตรีสะล้อซอซึง มีกลองตึ้งโนง ตีกลองตะหลดปด ตลอดวันตลอดคืน แห่กลองมองเซิง ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนดาบ ผู้ชายฟ้อนตบมะผาบถวายเป็นพุทธบูชา ตีลูกกุย(มวย) นักมวยที่ขึ้นชก ได้รับรางวัลคนละ 15 แถบ มีการฟ้อนเล็บของชาวทุ่งเสี้ยว โดยท่านเจ้าแก้วได้โปรดให้ชาวบ้านทุ่งเสี้ยวไปฝึกหัดการฟ้อนรำ ณ คุ้มหลวงในเวียง(ในเมืองเชียงใหม่) เพื่อต้อนรับพระหัววัดต่าง ๆ ที่มาร่วมงานปอยหลวงฉลองพระวิหารหลังใหม่ ส่วนกลองฟ้อนเล็บท่านครูบาเทิ้มวัดแสนฝางจัดหามาให้ ปัจจุบันได้ซ่อมแซมให้ดีคงสภาพเดิม โรงฟ้อนเล็บได้ทำบังวัน(บังแดด) ขึ้นที่บริเวณวัดเดิม ในด้านพิธีกรรมทางศาสนา ได้มีการสวดเบิก และธรรมเทศนาทุกวัน ได้นิมนต์พระหัววัดทั้งสามอำเภอ คือ อำเภอสันป่าตอง อำเภอหางดง และอำเภอจอมทอง มาร่วมพิธีด้วย เป็นงานปอยหลวงที่ยิ่งใหญ่ ตรงหน้าคุ้มมีโรงครัวทานสำหรับเลี้ยงอาหารผู้มาเที่ยวงานปอย บุคคลที่มาร่วมงานปอยครั้งนี้ มีเจ้าน้อยสมบูรณ์เป็นราชเลขา เจ้าน้อยพรหมเป็นนายกองช้าง หนานปันเป็นเสมียน ขบวนช้างที่มาร่วมงานทั้งหมดมี 11 เชือก มีช้างสำคัญสองเชือกคือ ช้างปู่ชัยเลิศ เป็นช้างทรงของท่านเจ้าแก้วนวรัฐ และช้างปู่ชัยบาลเป็นช้างแสนรู้ มีความสามารถในการแสดงหลายอย่าง
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2145
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2489